“อเมริกันสแตนดาร์ด” ประกาศผลผู้ชนะเลิศการแข่งขัน
AMERICAN STANDARD DESIGN AWARD (ASDA) 2023
‘A Home to Love, A Space for Everyone’
เปิดโลกแห่งจินตนาการใหม่ในการสร้างสรรค์พื้นที่อยู่อาศัย
สำหรับการอยู่ร่วมกันของคนในหลายช่วงวัย
กรุงเทพฯ 19 กรกฎาคม 2566 – ลิกซิล (LIXIL) ผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดการน้ำและที่อยู่อาศัย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศให้ทราบผลผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ (Grand Prize) ในเวทีการประกวดออกแบบ American Standard Design Award หรือ ASDA ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2566
ASDA เป็นเวทีการแข่งขันประกวดออกแบบพื้นที่ใช้สอยในห้องน้ำ โดยมีเป้าหมายเพื่อเฟ้นหาสุดยอดนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยการสร้างพื้นที่ให้นักออกแบบมีโอกาสนำเสนอผลงาน โดยเวทีการประกวด ASDA ในปีนี้ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามด้วยยอดลงทะเบียนจำนวน 1,500 รายการ จาก 10 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ได้แก่ ออสเตรเลีย กัมพูชา อินเดีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
ในปีนี้ ASDA จัดการประกวดในประเภทการออกแบบพื้นที่ใช้สอยในห้องน้ำของที่พักอาศัย (Residential Bathroom Space Design) โดยเน้นความสำคัญด้านความสวยงามของห้องน้ำสำหรับที่อยู่อาศัยของคนเมืองในกลุ่มเซกเมนต์ระดับกลางถึงบน ด้วยพื้นที่ใช้สอยที่จำกัดและมีคนต่างวัยอาศัยร่วมกัน นักออกแบบจึงต้องปรับเปลี่ยนและสร้างพื้นที่อยู่อาศัยอเนกประสงค์ที่ตอบรับความสมดุลระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนกลาง การประกวดออกแบบครั้งนี้จะทลายกรอบเดิม ๆ ของการออกแบบ โดยเสนอโจทย์ที่ท้าทายให้นักศึกษาได้สร้างสรรค์ห้องน้ำที่ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย และสะดวกสบาย ตลอดจนเป็นที่ชื่นชอบของสมาชิกทุกคนในครอบครัว
ผู้ที่ได้รับรางวัลที่หนึ่งจากแต่ละประเทศจะเข้าสู่รอบการแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และผลงานดังกล่าวจะได้รับการตัดสินโดยคณะกรรมการตัดสินระดับภูมิภาคเพื่อเฟ้นหาผู้สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ (Grand Prize) เพื่อชิงเงินรางวัลมูลค่า 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศยังได้เข้าร่วมพิธีมอบรางวัลที่จัดขึ้นที่สิงคโปร์ และเยี่ยมชมศูนย์ การออกแบบลิกซิล (LIXIL Design Centre) ซึ่งเป็นโอกาสที่ได้พบปะและแลกเปลี่ยนความรู้กับทีมออกแบบระดับโลกของลิกซิล
นักศึกษาผู้คว้ารางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Award Grand Prize Winner) ในปีนี้ ได้แก่ Sin Ponleu นักศึกษาชาวกัมพูชาจากมหาวิทยาลัยเทียนจิน (Tianjin University) โดยนำเสนอผลงานการออกแบบห้องน้ำชื่อว่า “One Space, One Love” ที่มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการการใช้งานของสมาชิกทุกคนในบ้าน ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ และเด็ก ๆ พื้นที่ของห้องน้ำได้รับการจัดสรรออกเป็น 4 ส่วนเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ห้องน้ำได้พร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนอาบน้ำของเด็ก ๆ หรือผู้ใหญ่ พื้นที่ทำความสะอาดเสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งสปาส่วนตัว
“กว่า 140 ปีแล้วที่อเมริกันสแตนดาร์ดได้ยกระดับมาตรฐานอย่างต่อเนื่องในการนำเสนอโซลูชันห้องน้ำที่ผสมผสานการ ออกแบบอย่างมีจุดมุ่งหมายควบคู่ไปกับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำหน้า ด้วยความเชี่ยวชาญเชิงลึกในอุตสาหกรรมนี้และการออกแบบของเรา เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับสถาปนิกและนักออกแบบชั้นนำในการจัดการแข่งขัน ASDA 2023 อเมริกันสแตนดาร์ดได้รับความไว้วางใจจากรุ่นสู่รุ่นด้วยการเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งและเชื่อถือได้ และธีม ASDA ของปีนี้ต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาสาขาการออกแบบได้สร้างสรรค์พื้นที่ภายในห้องน้ำที่น่าใช้งานซึ่งคนทุก เจเนอเรชันในบ้านจะชื่นชอบ ในขณะเดียวกันก็ได้แข่งขันประชันไอเดียกับเพื่อน ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย” ออดรีย์ โหย่ว ลีดเดอร์ ประเทศไทย และกลุ่มประเทศอินโดไชน่า กลุ่มบริษัท ลิกซิล, ธุรกิจเทคโนโลยีการใช้น้ำ เอเชียแปซิฟิก (LWT APAC) กล่าว
สำหรับผลการตัดสินระดับประเทศ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ มาริษา ชนประชา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากผลงานที่มีชื่อว่า ‘Love Through’ โดยห้องน้ำถือเป็นพื้นที่ส่วนกลางภายในบ้านที่สมาชิกทุกคนใช้ร่วมกัน การออกแบบจึงต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งานทุกช่วงวัยและคำนึงถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว แนวคิด ‘Space and Interaction’ จึงถูกนำมาใช้ในงานออกแบบชิ้นนี้ ด้วยการใช้ช่องเปิดในการเปิดรับมุมมองและลดความทึบตันของ Space และยังเพิ่ม Functions ต่าง ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการใช้ห้องน้ำ “หนูรู้สึกตกใจผสมดีใจตั้งแต่ประกาศผลว่าเข้ารอบ 7 คนสุดท้าย จนได้รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ไม่เคยคิดว่างานออกแบบชิ้นนี้จะพาหนูมาไกลได้ขนาดนี้ มันเกินคาดมากจริง ๆ ค่ะ ตลอดการแข่งขันทำให้หนูได้เรียนรู้ถึงมุมมองใหม่ ๆ และทักษะอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นประโยชน์อย่างมาก หนูจะนำสิ่งเหล่านี้ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อการเป็นนักออกแบบที่ดีในอนาคตให้ได้ค่ะ” มาริษากล่าวถึงผลงานและความประทับใจที่ได้รับจากการประกวดครั้งนี้
พรรวษา น้อยธรรมราช คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากผลงานที่มีชื่อว่า ‘A Space that is more than a bathroom’ กล่าวว่า “Learn & Relax เป็นคอนเซปต์การออกแบบให้ห้องน้ำเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สามารถสร้างความผ่อนคลายและสร้างการเรียนรู้ได้ โดยสื่อออกมาทางเส้นสายที่โค้งมน และพื้นที่การใช้งานที่ไม่ซับซ้อน” พรรวษากล่าวเพิ่มเติมว่า “รู้สึกตื่นเต้นและดีใจ ภูมิใจในผลงานของตนเองที่สามารถผ่านเข้ารอบได้ ซึ่งมันตอกย้ำว่าแนวความคิดของเราสามารถที่จะพัฒนาและต่อยอดไปได้อีก”
“การที่ผมได้กลับบ้านไปหาครอบครัวในช่วงปิดเทอมทำให้ผมรู้สึกว่าการใช้ชีวิตในชนบทดูจะธรรมดาเรียบง่าย อยู่แล้วสบายใจ ตอนที่ผมคิดงานทำให้ผมนึกถึงช่วงเวลาที่ทุกคนได้พูดคุยกันในเวลาทานข้าวซึ่งทำให้คนในครอบครัวใกล้ชิดกันมากขึ้น ผมจึงอยากใช้ช่วงเวลานี้มาเป็นแนวคิดในการออกแบบห้องน้ำที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถพูดคุยกันได้ ไม่ตัดขาดจากห้องน้ำแบบเดิมที่เคยเป็น ผมจะนำประสบการณ์จากการประกวดครั้งนี้ทั้งการออกแบบที่ตอบโจทย์คนทุกช่วงวัย การคิดสิ่งใหม่ ๆ ที่นอกกรอบ และคำแนะนำจากคณะกรรมการไปปรับใช้กับการเรียนหรืองานอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” วุฒิชัย โคตรชา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เจ้าของผลงาน ‘Lao – reuang’ กล่าวถึงความภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการประกวดครั้งนี้
ผลงานที่ส่งเข้ามาทั้งหมดได้รับการประเมินอย่างรอบคอบจากคณะกรรมการตัดสินผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 17 รายที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้นำในสายงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นจากบริษัทสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียง สถาปนิกมืออาชีพ และนักออกแบบภายในที่เป็นที่รู้จักจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผลงานที่ส่งเข้าแข่งขันทั้งหมดได้รับการประเมินตามเกณฑ์หลัก 4 ประการ ได้แก่ การออกแบบอย่างมีจุดมุ่งหมาย (Purposeful Design) สไตล์ที่ดึงดูด (Inviting Style) ความคิดริเริ่ม (Originality) และการใช้งานจริง (Feasibility)
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนักออกแบบรุ่นใหม่และผลงานที่ชนะรางวัลได้ที่เว็บไซต์ของ ASDA ทาง https://asda.americanstandard-apac.com/winners-2023