บำรุงราษฎร์ พัฒนาต่อยอดศูนย์จักษุ เปิดตัว ‘ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา’ (Cornea Transplant Center) เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่มีศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตาที่ให้บริการครอบคลุมทุกการรักษาที่ซับซ้อนเกี่ยวกับกระจกตา
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ประชากรทั่วโลกมีปัญหาทางสายตาประมาณ 2.2 พันล้านคน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาจากความผิดปกติทางสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือจากโรคต้อกระจก ที่ไม่ได้รับการแก้ไข รักษา ทั้งนี้ จากผลสำรวจ The first rapid assessment of avoidable blindness (RAAB) ในประเทศไทย ระบุว่าตาบอดสามารถป้องกันได้กว่า 92% และสามารถรักษาได้กว่า 76.8% โดยสาเหตุของสภาวะตาบอดเกิดจากปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ โรคต้อกระจก (Cataract), โรคต้อหิน (Glaucoma) และโรคกระจกตา (Corneal Disease) ซึ่งปัญหาทางการมองเห็นเหล่านี้มักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบัน เริ่มพบผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาในกลุ่มที่มีอายุเฉลี่ยน้อยลงอย่างต่อเนื่อง
ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า “ตลอด 42 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ยกระดับการรักษาสู่ขั้นจตุตถภูมิ (Quaternary Care) รวมถึงพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) เพื่อให้การบริบาลดูแลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม ซึ่ง ‘ศูนย์จักษุ’ เป็นอีกหนึ่งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ของบำรุงราษฎร์ที่มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งในการบริบาลทางการแพทย์โดยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกด้านเกี่ยวกับดวงตาและทีมสหสาขาวิชาชีพ ผนวกกับการใช้นวัตกรรมขั้นสูงสำหรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา ทำให้ศูนย์จักษุมีศักยภาพในการดูแลรักษาทุกปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตาแม้ในโรคยากและซับซ้อน ซึ่งรวมถึงการเปิด ‘ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา’ หรือ ‘Cornea Transplant Center’ โดยบำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่มีศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตาที่ให้บริการครอบคลุมในทุกการรักษาที่เกี่ยวกับกระจกตา ซึ่งนับว่าเป็นความภาคภูมิใจของบำรุงราษฎร์อีกครั้งหนึ่ง”
พญ. เมทินี ศิริมหาราช หัวหน้าศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “เนื่องจากตา เป็นอวัยวะที่สำคัญและประกอบด้วยเนื้อเยื่อต่าง ๆ หลายชนิด จึงจำเป็นต้องมีจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการในแต่ละด้านเข้ามาดูแล โดยศูนย์จักษุประกอบด้วยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ครอบคลุมทุกปัญหาที่เกี่ยวกับดวงตา ได้แก่ ต้อกระจก ต้อหิน ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้างจอประสาทตา ม่านตาอักเสบ โรคกระจกตา โรคตาในเด็กและตาเข จักษุประสาท การผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติด้วย ReLEx SMILE เป็นต้น ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดและจำเป็นต้องได้รับการประเมินสภาพร่างกายและจิตใจ จักษุแพทย์จะทำงานร่วมกับแพทย์เฉพาะทางในสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อายุรแพทย์ วิสัญญีแพทย์ จิตแพทย์ พร้อมด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อส่งมอบการรักษาที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด โดยศูนย์จักษุ ได้ปรับสถานที่เพื่อให้รองรับกับจำนวนผู้มารับบริการที่เพิ่มขึ้น มีห้องตรวจตาจำนวน 13 ห้อง พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยสำหรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างครบครัน เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยโรคตาที่มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย”
‘ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา’ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้บริการครอบคลุมในทุกการรักษาที่เกี่ยวกับกระจกตา อาทิ กระจกตาติดเชื้อ กระจกตาบวม กระจกตาโก่ง กระจกตาเสื่อมจากพันธุกรรม แผลเป็นที่กระจกตา รวมถึงการปลูกถ่ายกระจกตา ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการวินิจฉัยและการรักษาในเวลาที่เหมาะสม เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็น หรืออาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นถาวรได้
นพ. ธีรวีร์ หงษ์หยก แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระจกตา และผ่าตัดแก้ไขสายตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลว่า กระจกตา คือส่วนที่อยู่ด้านหน้าสุดของดวงตาดำ มีลักษณะโค้งใส มีทั้งหมด 5 ชั้น ทำหน้าที่ให้แสงผ่าน และหักเหแสงให้มาตกรวมกันที่จอตาด้านในเพื่อการมองเห็นที่ดีขึ้น ซึ่งหากผู้ป่วยเริ่มมีอาการมองไม่ชัดหรือเป็นฝ้าหมอก, ตาไม่สู้แสง, ค่าสายตาเปลี่ยนบ่อย, สายตาเอียงมากผิดปกติ, มองเห็นแสงฟุ้งๆ หรือเห็นแสงเป็นวงรอบเมื่อมองดวงไฟ, รู้สึกระคายเคืองขณะใส่คอนแทคเลนส์ หรือเกิดอุบัติเหตุ กระจกตาเป็นแผลหรือขุ่นมัว อาจแสดงได้ว่ากระจกตาอาจเริ่มมีปัญหา จึงควรจะต้องมาพบแพทย์เพื่อทำการประเมินและวินิจฉัยอาการดังกล่าว โดยจักษุแพทย์จะตรวจตาอย่างละเอียด และอาจใช้เครื่องมือในการประเมินพยาธิสภาพของกระจกตา เช่น เครื่อง Corneal Topographer ซึ่งช่วยในการดูรูปร่างของกระจกตาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน
สาเหตุที่ทำให้กระจกตาขุ่น เป็นฝ้าขาว บวมขึ้น หรือ ทำให้กระจกตาโค้งเบี้ยวผิดรูปร่างไป ที่พบได้บ่อยในต่างประเทศ ได้แก่ โรคความเสื่อมของเซลล์กระจกตาด้านในจากพันธุกรรม เซลล์ด้านในของกระจกตามีหน้าทำให้กระจกตาใสโดยการควบคุมน้ำในกระจกตา เมื่อเสื่อมจึงทำให้กระจกตาบวม หนา เป็นฝ้าได้ และโรคกระจกตาโก่งย้วย ที่อาจจะสัมพันธ์กับภูมิแพ้ที่ไม่ได้ควบคุม ทำให้ขยี้ตามาเป็นระยะเวลานาน จนเกิดภาวะกระจกตาอ่อนแอ บางลง และโก่งเบี้ยวผิดรูปไป ส่วนในประเทศไทยจะพบกระจกตาขุ่นจากแผลติดเชื้อที่กระจกตาได้บ่อยกว่า ซึ่งอาจเกิดจากการทำงาน การใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่ได้ดูแลให้ดี หรือการขี่มอเตอร์ไซค์ที่ไม่ใส่หมวกกันน็อค ซึ่งจะช่วยป้องกันศีรษะและดวงตา อีกสาเหตุที่พบบ่อย คือ กระจกตาเสื่อมบวมภายหลังการผ่าตัดตาที่ซับซ้อน นอกจากนั้น กระจกตาเสื่อมจากพันธุกรรม หรือกระจกตาขุ่นผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ก็พบได้ไม่น้อยเช่นกัน ทั้งหมดล้วนมีผลทำให้เกิดแผลเป็นฝ้าขาวที่กระจกตา กระจกตาบวมหรือความโค้งที่ผิดรูปร่างไป ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นได้อย่างรุนแรง ซึ่งหลายๆ โรคก็สามารถแก้ไขได้ โดยการ ‘การปลูกถ่ายกระจกตา’ เพื่อให้กระจกตากลับมาใส และมองเห็นได้อีกครั้งหนึ่ง
รศ.พญ. งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ ประธานชมรมกระจกตาและการแก้ไขสายตาแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวถึงวิธีการปลูกถ่ายกระจกตา จะเป็นการผ่าตัดเอากระจกตาของผู้ป่วยที่ขุ่นหรือเป็นโรคออก แล้วปลูกถ่ายด้วยกระจกตาของผู้บริจาค ข้อดีของการรักษาด้วยการปลูกถ่ายกระจกตา คือจะช่วยแก้ไขปัญหาการมองเห็นของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ช่วยเสริมความแข็งแรงของกระจกตาในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระจกตาบางหรือทะลุ และช่วยควบคุมการติดเชื้อที่กระจกตาในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อที่กระจกตา ซึ่งการรักษาจะใช้กล้องผ่าตัดรุ่นใหม่ที่มีการผนวกเทคนิคที่ช่วยในการตรวจชั้นต่างๆ ของกระจกตาในระหว่างผ่าตัด (Microscope-integrated intraoperative optical coherence tomography) ช่วยให้การผ่าตัดกระจกตามีความแม่นยำมากขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ
1. การปลูกถ่ายกระจกตาทุกชั้น (Penetrating keratoplasty) กรณีที่ผู้ป่วยมีกระจกตาขุ่นทุกชั้น (ซึ่งกระจกตามีทั้งหมด 5 ชั้นย่อย หรีอ 3 ชั้นหลัก คือ ชั้นผิวหรือชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นหรือชั้นเยื่อบุ) หรือทำงานได้ไม่ดี การผ่าตัดวิธีนี้ จะผ่าตัดโดยเอากระจกตาทุกชั้นที่มีพยาธิสภาพออกและนำกระจกตาที่มีความหนาแบบเดียวกันและมีทุกชั้นใส่เข้าไปแทนที่
2. การปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้น (Lamellar keratoplasty) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระจกตาเสียหายเฉพาะบางส่วน ก็จะทำการปลูกถ่ายเฉพาะบางชั้น ได้แก่ การปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้นบน (Anterior lamellar keratoplasty) ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่ต้องตัดกระจกตาชั้นเยื่อบุโพรงหรือกระจกตาชั้นในสุดทิ้งไป จึงช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่ร่างกายผู้ป่วยจะปฏิเสธกระจกตาที่เกิดจากการปลูกถ่ายได้ รวมทั้งลดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ด้วย การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้นอีกชนิดหนึ่งคือ การปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้นเยื่อบุโพรงกระจกตาหรือกระจกตาชั้นใน (Endothelial keratoplasty) เป็นการนำเยื่อบุโพรงกระจกตาชั้นในที่มีพยาธิสภาพออก และทดแทนด้วยเยื่อบุโพรงกระจกตาจากดวงตาบริจาคที่นำมาปลูกถ่าย ซึ่งกระจกตาชั้นนี้มีความบางมาก ประมาณ 10-15 ไมครอน จึงเป็นการผ่าตัดที่ละเอียดอ่อนมาก นอกจากนี้การผ่าตัดชนิดนี้ยังมีขนาดแผลผ่าตัดที่เล็กเพียง 3-5 มิลลิเมตร ทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้มาก ที่สำคัญ มีการฟื้นตัวของสายตาที่เร็วมากนับเป็นสัปดาห์ เร็วกว่าการปลูกถ่ายกระจกตาทุกชั้นอย่างมาก
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการโรคกระจกตาที่ซับซ้อนมากขึ้น ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการหลากหลายสาขาที่พร้อมให้การบริบาลดูแลรักษาโรคที่ซับซ้อน และมีเทคนิคการรักษาที่หลากหลาย โดยบางครั้งแพทย์อาจต้องใช้วิธีอื่นรักษาร่วมด้วย เช่น Phototherapeutic Keratectomy (PTK) คือการรักษาโรคของกระจกตาด้วยเอ็กไซเมอเลเซอร์, การฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ (Corneal collagen cross-linking) เพื่อเสริมความแข็งแรงเส้นใยคอลลาเจนในกระจกตา และการผ่าตัดใส่วงแหวน (Intrastromal Corneal Ring Segment) เพื่อปรับความโค้งของกระจกตา เพื่อให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับสถานการณ์การจัดหาและบริการดวงตาของศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทยในปัจจุบัน มีรายงานว่าผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการปลูกถ่ายกระจกตาจะต้องใช้เวลารอคิวบริจาคประมาณ 3-5 ปี ซึ่งยอดบริจาคดวงตาหลังเสียชีวิตมีเพียง 2% ของประชากรไทย ขณะที่แต่ละปีมีผู้ขอรับบริจาคดวงตามากกว่า 1,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยแต่ละปีจะมีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายกระจกตาเพียง 600 – 700 ราย ปัจจุบันยังมีผู้รอคอยดวงตามากกว่า 17,000 คน ด้วยข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา อาจทำให้อาการผู้ป่วยจากที่เป็นน้อยๆ เริ่มเป็นมากขึ้น ส่งผลให้การรักษายากขึ้นและมีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น กรณีที่เบาหวานขึ้นตาก็ไม่สามารถยิงเลเซอร์รักษาได้ ทำให้ภาวะของโรคแย่ลง และมีภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา
“ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงเป็นอีกทางเลือกที่มีศักยภาพและมีแนวทางในการดำเนินการจัดหาดวงตาบริจาคเพื่อนำไปผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้แก่ผู้ป่วยได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น นับเป็นการแบ่งเบาภาระจากภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกระจกตาที่มีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายกระจกตาให้สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพในเวลาที่เหมาะสมให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามีคุณภาพการมองเห็นและคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง” รศ.พญ. งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ กล่าวปิดท้าย
ด้วยศักยภาพความพร้อมของทีมแพทย์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญการในการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากว่า 30 ปี ทั้งการปลูกถ่ายไต ปลูกถ่ายตับ และปลูกถ่ายหัวใจ ปัจจุบัน อัตราความสำเร็จของการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา อยู่ที่ 70-95% ขึ้นอยู่กับอาการและโรคที่ผู้ป่วยเป็น ซึ่งเป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเมื่อเทียบกับการปลูกถ่ายอวัยวะอื่นๆ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการผ่าตัดปัจจัยหนึ่ง คือ ความพอดีของรอยต่อของแผลระหว่างเนื้อเยื่อกระจกตาของผู้ป่วย และเนื้อเยื่อกระจกตาที่นำมาปลูกถ่าย ดังนั้นเทคนิคการตัดกระจกตา (Trephination) ทั้งกระจกตาที่นำมาปลูกถ่ายและเนื้อเยื่อกระจกตาของผู้ป่วยจึงมีความสำคัญมาก การปลูกถ่ายกระจกตาจึงจำเป็นต้องใช้แพทย์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญขั้นสูงในการผ่าตัด ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตา ควรเข้ารับบริการตรวจ screening สุขภาพตาเป็นประจำทุกปี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ชั้น 18 อาคาร A (คลินิก) หรือโทร. 0-2 011 3886 หรือโทร. 1378
# # # #