โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เผยความสำเร็จการผลิตสารเภสัชรังสีเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็ง พร้อมเปิดตัว “SPECT/CT” Symbia Pro.Specta รุ่น X3
ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เผยความสำเร็จการผลิตสารเภสัชรังสีเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็ง ระบบประสาท และหัวใจ ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านการแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ พร้อมเปิดตัว “SPECT/CT” Symbia Pro.Specta รุ่น X3 แห่งแรกของประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดเสวนาแถลงข่าวภายใต้ชื่องาน The New Frontier of Nuclear Medicine in Thailand ก้าวล้ำนำอนาคต เปิดมิติใหม่ เวชศาสตร์นิวเคลียร์ เปิดศักยภาพเผยความสำเร็จกับนวัตกรรมการผลิตสารเภสัชรังสีจากเครื่องไซโคลตรอน 6 สารใหม่ล่าสุด เพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจทางภาพวินิจฉัยการแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 18 ปี ของการจัดตั้งศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมเปิดตัวเครื่อง “SPECT/CT” Symbia Pro.Specta รุ่น X3 เทคโนโลยีภาพวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แห่งแรกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางวิจัยทางด้านวิชาการเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่ทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ด้วยมาตรฐานการรับรอง Earl Accreditation สำหรับการตรวจวินิจฉัยด้วย PET/CT แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และ PET/MRI แห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียจากสมาคมเวชศาสตร์นิวเคลียร์แห่งยุโรป แสดงถึงการเป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศและมีเครือข่ายความร่วมมือด้านการทำงานวิจัยสร้างองค์ความรู้ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์กับหลายสถาบันและหน่วยงานทั่วโลก
โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงาน และรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย ดร.ประดิษฐ์ เลิศสิริสุข นักเคมีรังสี และ คุณอรรถพล จันทรโท นักรังสีการแพทย์ และ Chris Poray, Managing Director of Siemens Healthineers Thailand ร่วมเสวนาแถลงข้อมูลเผยความก้าวหน้าการให้บริการทางการแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ก้าวล้ำนำอนาคตภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เผยว่า “ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ เป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่บูรณาการนวัตกรรมด้านภาพวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีการตรวจและรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบบครบวงจร โดยเป็นศูนย์ที่ก่อตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช 2549 จากพระปณิธานและพระวิสัยทัศน์ใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้วยทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางรากฐานการดำเนินงานด้านการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีสร้างภาพทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อให้ศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าอย่างสูงสุดแก่ประชาชนคนไทย
ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้มีภารกิจด้านการผลิตสารเภสัชรังสีจากเครื่องไซโคลตรอนและเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมเครื่องมือการสร้างภาพวินิจฉัยขั้นสูงทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์อย่างครบวงจร ทั้งเพทสแกนและสเปคซีทีเพื่อให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท และโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงเป็นสถานที่วิจัยทางด้านวิชาการเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่ทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ การแถลงความก้าวหน้าการให้บริการทางการแพทย์ภายใต้การทำงานของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ในวันนี้เนื่องในโอกาสครบรอบ 18 ปี นับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของทางศูนย์ฯ ที่มุ่งมั่นคิดค้นและพัฒนาต่อยอดการผลิตสารเภสัชรังสีใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ให้กับประเทศชาติต่อไป ประกอบกับศักยภาพความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เพื่อส่งมอบมาตรฐานการเป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ตามพระปณิธาน”
ด้าน รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร.ประดิษฐ์ เลิศสิริสุข นักเคมีรังสี และคุณอรรถพล จันทรโท นักรังสีการแพทย์ ได้ร่วมเปิดเผยถึงพัฒนาการความก้าวหน้าและความสำเร็จในการผลิตสารเภสัชรังสีตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานมา 18 ปี ของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โดยอธิบายถึงบทบาทสำคัญของสารเภสัชรังสีว่าเป็นสารกัมมันตรังสีที่ติดฉลากกับสารเคมีที่มีโครงสร้างและคุณสมบัติที่เหมาะสมในปริมาณเล็กน้อยที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปยังอวัยวะเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้สามารถนับวัดรังสีและถ่ายภาพเพื่อการวินิจฉัยโรค หรือใช้ทำลายเนื้อเยื่อเพื่อการรักษาโรคได้อย่างแม่นยำ โดยเทคโนโลยีการสร้างภาพในระดับโมเลกุล (Molecular Imaging) ของเวชศาสตร์นิวเคลียร์หรือการตรวจด้วยเพทสแกนในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าและนับว่ามีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจวินิจฉัยในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคระบบประสาทและโรคหัวใจ รวมทั้งการผลิตสารเภสัชรังสีที่มีการพัฒนาอย่างมากเพื่อให้ได้ข้อมูลทางด้านชีวโมเลกุลที่ทันสมัยและมีความเฉพาะเจาะจงต่อโรคเพิ่มมากขึ้นเพื่อก่อให้เกิดการรักษาที่ได้ผลประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ข้อมูลทางด้านชีวโมเลกุลในทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์นั้นมีการผสมผสานกับข้อมูลทางกายวิภาคเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงทางด้านชีวโมเลกุลของโรคที่แม่นยำเพื่อก่อให้เกิดการวางแผนรักษาเฉพาะรายที่ได้ผลประโยชน์สูงสุด สารเภสัชรังสีถูกผลิตขึ้นจากเครื่องไซโคลตรอน ซึ่งจัดเป็นเครื่องกำเนิดรังสี ที่เป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่ใช้สำหรับการผลิตไอโซโทปรังสี โดยการเปลี่ยนธาตุที่เสถียรไปเป็นธาตุที่เป็นไอโซโทปรังสีสำหรับการใช้ในทางการแพทย์ เมื่อได้ปริมาณความแรงรังสีตามที่ต้องการใช้ในการผลิตสารเภสัชรังสีแล้ว ก็จะถูกนำส่งไปยังเครื่องสังเคราะห์สารเภสัชรังสีแบบอัตโนมัติ เพื่อทำการติดฉลากไอโซโทปรังสีเข้ากับตัวยาที่มีความจำเพาะกับรอยโรคต่าง ๆ ด้วยปฏิกิริยาทางเคมี เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการติดฉลากไอโซโทปรังสีจะเข้าสู่กระบวนการทำให้บริสุทธิ์ และเตรียมพร้อมสำหรับการใช้เป็นยาฉีดโดยเข้าสู่กระบวนการควบคุมคุณภาพเพื่อตรวจสอบว่าสารเภสัชรังสีที่ผลิตได้คุณภาพตามเภสัชตำรับและปลอดภัย
ปัจจุบัน ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีการติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งมีกำลังการผลิตสารเภสัชรังสีที่สูงและมีกำลังการผลิตไอโซโทปรังสีชนิดใหม่ได้หลากหลายชนิดทำให้มีประโยชน์ในการใช้ค้นคว้าพัฒนาสารเภสัชรังสีชนิดใหม่ที่มีความเฉพาะเจาะจงต่อโรคเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทสแกนที่สร้างภาพการทำงานในระดับเซลล์ และมีความสำคัญต่อการช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ สามารถช่วยวางแผนการรักษา รวมทั้งการติดตามผลการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถผลิตสารเภสัชรังสีเพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้มากกว่า 25 ชนิด และในโอกาสครบรอบ 18 ปี ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ได้เปิดอีก 6 นวัตกรรมความก้าวหน้าและถอดรหัสความสำเร็จของการศึกษาวิจัยในการผลิตสารเภสัชรังสี 6 ชนิดใหม่ล่าสุด ประกอบด้วย
- 18F-Fluorocholine สารเภสัชรังสีสำหรับการตรวจวินิจฉัยการทำงานของต่อมพาราไทรอยด์
- 15O-Radiowater perfusion การใช้น้ำรังสีเพื่อประเมินการไหลเวียนของเลือดในกล้ามเนื้อหัวใจ และในผู้ป่วยปลูกถ่ายไต
- 15O-gas การใช้แก๊สรังสีเพื่อตรวจประเมินภาวะหลอดเลือดสมองตีบ โดยวิธีการไม่ใช้ตัวอย่างเลือดในเครื่อง PET/MRIครั้งแรกในโลก
- 68Ga-ABY-025 สารเภสัชรังสีสำหรับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดตัวรับ HER2
- 18F-SMBT-1 สารเภสัชรังสีสำหรับการตรวจวินิจฉัยภาวะระบบประสาทอักเสบ
- 68Ga-Pentixafor สารเภสัชรังสีสำหรับการตรวจวินิจฉัยตัวรับ CXCR-4
(สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/live/z8PNawahQUA?si=EfhznymixmqTiqGI)
ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ยังเป็นศูนย์กลางการวิจัยทางด้านวิชาการเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยได้รับการรับรองให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติที่เรียกว่า Earl Accreditation สำหรับการตรวจวินิจฉัยด้วย PET/CT แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และ PET/MRI แห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียจากสมาคมเวชศาสตร์นิวเคลียร์แห่งยุโรป โดยให้การรับรองมาตรฐานคุณภาพสำหรับการสร้างภาพวินิจฉัยด้วยเครื่อง PET ในด้านคลินิกและด้านวิจัยที่มีมาตรฐานร่วมกันระหว่างอเมริกาและยุโรปเพื่อยกระดับการวิเคราะห์ผล แปลผลและการเตรียมตัวผู้ป่วยตามมาตรฐานระดับสูงในระดับนานาชาติ แสดงถึงการเป็นศูนย์วิจัยระดับนานาชาติ เป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศในการทำงานวิจัยร่วมกันได้อย่างดีเยี่ยมและมีเครือข่ายความร่วมมือกับหลายสถาบันทั่วโลก อาทิ สวีเดน ฟินแลนด์ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา อิสราเอล ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยหนึ่งในหน่วยงานที่ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็น Reference site ให้ในการทำงานวิจัยร่วมกัน คือ บริษัท Siemens Healthineers
โดย Chris Poray, Managing Director of Siemens Healthineers Thailand ได้กล่าวแสดงความยินดีถึงความสำเร็จในการเป็นผู้นำด้านการผลิตสารเภสัชรังสีและความร่วมมือระหว่าง Siemens Healthineers กับศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติในโครงการวิจัยระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงซอฟต์แวร์ด้านภาพวินิจฉัยและกระบวนการวิเคราะห์ซึ่งความร่วมมือนี้ได้ยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพผู้ป่วยทั่วโลก นอกจากนี้ Siemens Healthineers ยังมุ่งส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ของทางศูนย์ฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการถ่ายภาพสมองโดยการใช้แก๊สรังสี โดยมีเป้าหมายในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและการรักษานำไปสู่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะเป็นประโยชน์และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั่วโลกต่อไปในอนาคต
นอกจากภารกิจด้านการผลิตสารเภสัชรังสี ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ยังเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมเครื่องมือด้านภาพวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงแบบครบวงจรทั้ง PET/CT , PET/MRI และSPECT/CT เปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยแก่ผู้ป่วยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ทุกสิทธิการรักษาและผู้ป่วยที่ส่งตัวมาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยภายในงานได้แถลงเปิดตัวเครื่อง SPECT/CT Symbia Pro.Specta รุ่น X3 ซึ่งเป็นเครื่องรุ่นใหม่ล่าสุดที่นำมาติดตั้งทดแทนเครื่องเดิมและเริ่มเปิดให้บริการเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ชั้น B1 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นแห่งแรกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับ SPECT/CT เป็นเครื่องมือถ่ายภาพรังสีแกมม่าที่ผสานเทคโนโลยีจากเครื่อง CT เพื่อให้ได้ภาพสแกน และภาพอวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่สามารถบอกตำแหน่งรอยโรคได้อย่างชัดเจน และช่วยให้สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดย SPECT/CT Symbia Pro.Specta รุ่น X3 มีความแม่นยำในการวินิจฉัยโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการสร้างภาพ SPECT และเป็นเครื่องถ่ายภาพรังสีแกมม่าที่ผสานเทคโนโลยี CT 64 สไลด์เครื่องแรกของประเทศไทยทำให้ถ่ายภาพความละเอียดสูง สามารถบอกตำแหน่งรอยโรคได้อย่างชัดเจน และช่วยทำให้สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำมากขึ้น พร้อมทั้งมีระบบขั้นสูงในการแก้ไขการเคลื่อนไหวโดยอัตโนมัติ ทำให้ได้ภาพที่ชัดเจนขึ้น สามารถทำ daily QC ได้โดยอัตโนมัติ ช่วยประหยัดเวลาและลดข้อผิดพลาด มีระบบ Zone Map โปรแกรมที่ใช้แยกชนิดของเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น Cortical bone, spongious bone, soft tissue, อากาศ, ไขมัน, และโลหะ เพื่อนำไปประมวลผลให้ได้ภาพที่คมชัดยิ่งขึ้น เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ช่องรับรังสีแกมม่ากว้างขึ้น เปรียบเสมือนกล้องถ่ายรูปที่มีรูรับแสงกว้างขึ้นทำให้เก็บภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่นการถ่ายภาพในที่แสงน้อยให้สวย รวมถึงลดปริมาณการใช้สารเภสัชรังสีที่ต้องฉีดเข้าไปในตัวผู้ป่วยด้วย มีระบบการลดภาพเบลอจากเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติ เปรียบเสมือนโปรแกรมกันสั่นของกล้องถ่ายรูป มีระบบ AI: Alpha Technology ช่วยในการประมวลผลภาพทั้งการวาดของเขตและการระบุตำแหน่งของอวัยวะต่าง ๆ เพื่อการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่นในการตรวจผู้ป่วยได้หลากหลายตอบสนองความต้องการทางคลินิก โดยสรุปคุณสมบัติของ SPECT/CT Symbia Pro.Specta รุ่น X3 ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้การสแกนเร็วขึ้น และได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับทั้งผู้ป่วยและแพทย์
ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศูนย์ความเป็นเลิศที่บูรณาการนวัตกรรมด้านภาพวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีการตรวจและรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบบครบวงจร ทั้งด้านการผลิตสารเภสัชรังสีจากเครื่องไซโคลตรอน สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยมาตรฐานการผลิตยาตาม GMP PIC/S และมาตรฐานการกระจายยาตาม GDP PIC/S และการให้บริการตรวจด้วยเครื่องเพทสแกน โดยนำวิทยาการและเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีราคาแพงไปใช้ให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าอย่างสูงสุดเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการตรวจรักษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม โดยผู้ป่วยสามารถนัดหมายผ่านทาง LINE @petscanchulabhorn หรือโทรนัดหมายที่เบอร์ 096-091-8369 เปิดให้บริการทุกวันเพื่อช่วยลดระยะเวลาการรอคอยแก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่อง PET และ SPECT/CT พร้อมรองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลต่าง ๆทั่วประเทศ ด้วยศักยภาพและความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เพื่อส่งมอบมาตรฐานการเป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ สนองพระปณิธานใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ผู้ทรงวางรากฐานการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าวิจัย และการแพทย์นานัปการให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
——————————————————–