ประเทศไทยไม่พร้อมรับมือดิสรับชั่นครั้งใหญ่: ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เตือนประเทศไทยไม่พร้อมรับมือ “ดิสรับชั่น” ครั้งใหญ่ ชี้ 6 ปัจจัยเปลี่ยนโลก
30 พฤศจิกายน 2567 – ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Unraveling Thailand’s Future ไขรหัสอนาคตประเทศไทย” ในงานสัมมนา Follow the Future 2024 ซึ่งจัดโดยสื่อ ทันโลกกับ Trader KP และ Business Tomorrow เพื่อชี้ให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก
ดร.สุรเกียรติ์ เตือนว่าประเทศไทยยังขาดการเตรียมความพร้อมอย่างจริงจังในการรับมือกับดิสรับชั่น (Disruption) ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน 6 ด้านที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และการดำเนินชีวิตทั่วโลก ดังนี้
1. เทคโนโลยี (Technology Disruption):
การพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีล้ำสมัยกำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานอย่างต่อเนื่อง หลายคนกังวลว่า AI จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ “Technology Disruption มาปั่นป่วนโลกพอสมควร และยังเดินต่อไปไม่หยุด”
2. ประชากร (Demographic Disruption):
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่รวดเร็วในประเทศไทยสร้างความท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการ ประเทศไทยได้รับการประเมินว่ามีความพร้อมต่ำที่สุดในเอเชียในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร
3. โรคระบาด (Pandemic Disruption):
วิกฤตโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยและหลายประเทศในโลกยังขาดการเตรียมความพร้อมสำหรับภัยสุขภาพระดับโลก โดยประเทศไทยใช้เวลาฟื้นตัวถึง 3 ปี จากผลกระทบของโรคระบาด ถือว่านานที่สุดเมื่อเทียบกับหลายประเทศ
4. สิ่งแวดล้อม (Environment Disruption):
ภัยธรรมชาติเช่นน้ำท่วมฉับพลันรุนแรงขึ้นและสร้างความเสียหายที่ยาวนานมากขึ้น เช่น กรณีภัยน้ำท่วมทางภาคเหนือและยะลา สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องการการตอบสนองอย่างเร่งด่วน
5. การศึกษา (Education Disruption):
ระบบการศึกษาไทยกำลังเผชิญความล้าหลัง หลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ขณะที่การศึกษานอกระบบ (Non-degree program) เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น ท่ามกลางคุณภาพการศึกษาของไทยตกต่ำลง ส่วนหลักสูตรมหาวิทยาลัยไม่อาจสอนในสิ่งที่ตอบโจทย์กับโลกยุคปัจจุบัน อาจารย์ไม่สามารถเป็นโค้ชได้เพราะไม่มีประสบการณ์ ซึ่งเป็นวาระสำคัญที่ต้องเร่งปรับคุณภาพการศึกษา
6. การเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ (Political & Geopolitical Disruption):
ความปั่นป่วนทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดในเอเชีย และนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย
ดร.สุรเกียรติ์ ระบุว่าประเทศไทยยังขาดความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความปั่นป่วนในอนาคต โดยเฉพาะในกรณีที่สหรัฐฯ มีผู้นำคนใหม่อย่างว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีแนวโน้มใช้นโยบายกีดกันการค้าฝ่ายเดียว แทนการพึ่งพาระบบพหุภาคีขององค์การการค้าโลก โดยสถานการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างรุนแรง เนื่องจากไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ กว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจกลายเป็นเป้าหมายของมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคต
ดร.สุรเกียรติ์เน้นย้ำว่าภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ พร้อมเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น อาเซียนบวกสาม เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศ
“ประเทศไทยไม่สามารถต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้เพียงลำพัง เราต้องสร้างความร่วมมือภายในประเทศและในระดับภูมิภาคอย่างเข้มแข็งเพื่อก้าวข้ามความท้าทายและเตรียมพร้อมรับมือกับโลกอนาคต” ดร.สุรเกียรติ์กล่าวสรุป
งานสัมมนา Follow The Future จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด “UNRAVEL THE NEW ERA – รู้ทันอนาคต ไขรหัสโลกยุคใหม่” โดย Trader KP Media บริษัทผลิตสื่อด้านการเงิน ธุรกิจ เศรษฐกิจ และการลงทุน ซึ่งดำเนินงานผ่านสองแบรนด์หลัก ได้แก่ “ทันโลกกับ Trader KP” และ “Business Tomorrow” ด้วยพันธกิจในการยกระดับความรู้ด้านการเงินและเป็นแหล่งข่าวธุรกิจ เศรษฐกิจ และการลงทุนให้กับคนไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของโลก เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทั้งในแง่ของโอกาสและความท้าทาย พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ติดตามสื่อได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่ายด้านการลงทุน เศรษฐกิจ และธุรกิจ ทั้งนี้ งานได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำระดับประเทศ เช่น ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย, คุณบรรยง พงษ์พานิช, คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์, รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร และ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ร่วมถ่ายทอดมุมมองอันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนนักลงทุนในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้